Search
พะโล้ไก่กัญชา-cover1-2
CULINARY CANNABIS (เมนูจากกัญชา)

พะโล้สมุนไพรใบกัญชา

เรื่องเล่าเมนูไทยเทสเทอราปี

Story

คำว่า ‘พะโล้’ เป็นคำยืมภาษาจีนมีความหมายว่า ‘มีอะไรก็ใส่ลงไปรวม ๆ กัน’ ลักษณะคล้ายคลึงกับจับฉ่าย แต่มีส่วนที่แตกต่างกันคือ พะโล้มีเครื่องเทศ 5 เซียน อาทิ ดอกโป๊ยกั๊ก อบเชย และซีอิ๊วหวานรวมอยู่ด้วย อีกทั้งรสชาติยังแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง พะโล้เป็นวัฒนธรรมการกินอย่างหนึ่งของชาวจีนหลายท้องถิ่น ทั้งในเสฉวน กวางตุ้ง เซี่ยงไฮ้ และซูโจว ลักษณะของพะโล้ของแต่ละท้องถิ่นก็มีรสชาติแตกต่างกันไป ส่วนอาหารประเภทพะโล้ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นพะโล้แต้จิ๋ว ที่เน้นกลิ่นเครื่องเทศจีน มีรสชาติหวานออกเค็ม มักเสิร์ฟร้อน ๆ รับประทานกับข้าวสวย หรือสามารถเปลี่ยนเนื้อหมู เป็นเนื้อสัตว์อื่น ๆ ได้ตามใจชอบ แต่มักนิยมใช้สัตว์ปีก อาทิ เป็ด หรือห่าน และหอมกลิ่นเครื่องเทศ ต้นตำรับสูตรพะโล้จากประเทศจีนบางมณฑล พะโล้จะมีรสเผ็ด แต่คนไทยได้ประยุกต์สูตรโดยลดเครื่องเทศจากจีน เหลือเพียงไม่กี่ชนิด และมักทำพะโล้ที่ออกรสหวานและรสเค็มมากกว่า แต่ยังคงส่วนประกอบอื่น ๆ อย่างอบเชย กานพลู ดอกโป๊ยกั๊ก เพิ่มรากผักชี ใส่หอม กระเทียม กระวาน เพื่อให้มีรสชาติเข้าถึงเครื่องเทศ อร่อย และมีกลิ่นหอม

ที่มาของคำว่า “พะโล้” ในตำนานจีนกล่าวว่า เริ่มต้นจากความคับแค้นของเจ้าพ่อไผ่สุ่ยเอี้ยที่มีต่อภรรยาและชายชู้ จึงสาปส่งให้ทั้งคู่กลายเป็นเป็ด จากนั้นก็นำเป็ดไปต้มกับเครื่องเทศหลายชนิดและซีอิ๊วหวาน จนกลายเป็นพะโล้ในที่สุด จากนั้นเป็นต้นมา หากใครประสงค์จะบนบาน หรือขอพรจากเจ้าพ่อไผ่สุ่ยเอี้ย ต้องต้มเป็ดพะโล้ถวาย จนกระทั่งเวลาผ่านไป เมนู “พะโล้” ได้ดัดแปลงด้วยการนำไข่ หมู และเต้าหู้เพิ่มลงไป เปลี่ยนแนวทางสูตรพะโล้แบบดั้งเดิมให้น่ารับประทานมากยิ่งขึ้น

ประโยชน์ของพืชผักสมุนไพร

Health Benefits

‘พะโล้สมุนไพรใบกัญชา’ เมนูไทยโบราณสุดคลาสสิคที่ปรับปรุงสูตรน้ำพะโล้ ให้เป็นสไตล์ไทย และเพิ่มวัตถุดิบด้วยการผสม ‘ใบกัญชา’ ลงไป สารสกัดทีเอชซีที่ได้จากพืชตระกูลกัญชาช่วยกระตุ้นระบบประสาท และลดความเครียดได้เป็นอย่างดี ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย นอนหลับสบาย ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และกระตุ้นความอยากอาหาร กลายเป็นส่วนผสมพิเศษที่เข้ากันได้อย่างลงตัวกับเครื่องเทศพะโล้

  • ‘กานพลู’ มีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต และยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย*
  • ‘พริกไทย’ มีฤทธิ์ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และต้านการอักเสบ**
  • ‘ใบกัญชา’ มีฤทธิ์ทำให้ผ่อนคลาย นอนหลับสนิท ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และกระตุ้นความอยากอาหาร ช่วยลดการอักเสบ ลดอาการชักเกร็ง และมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกหลายชนิด
  • ‘อบเชย’ มีฤทธิ์ช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยกระตุ้นระบบประสาท และลดความเครียดได้เป็นอย่างดี ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ป้องกันเลือดจับตัวเป็นก้อน
  • ‘ลูกจันท์เทศ’ มีฤทธิ์เป็นยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร แก้อาการคลื่นไส้ บำรุงโลหิต ช่วยกระจายเลือดลม บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง ช่วยให้เจริญอาหาร
  • ‘ยี่หร่า’ มีสรรพคุณช่วยขับลม กระตุ้นน้ำย่อยช่วยให้เจริญอาหาร แก้ปวดท้อง ท้องร่วง แก้อาการแพ้ท้อง กระตุ้นการหลั่งน้ำนมของหญิงหลังคลอด

ส่วนผสม

Ingredients

  • เครื่องพะโล้
    • อบเชย 1 ชิ้น
    • กานพลู 2 ชิ้น
    • โป้ยกั๊ก 2 ชิ้น
    • ลูกจันทน์เทศ 1 กรัม
    • พริกไทย 1 กรัม
  • ไข่ต้ม 1 ฟอง
  • เต้าหู้ 1 ชิ้น
  • น่องไก่ 200 กรัม
  • น้ำปลา 40 กรัม
  • น้ำตาลโตนด 20 กรัม
  • ซีอิ๊วดำ 5 กรัม
  • ซีอิ๊วขาว 20 กรัม
  • รากผักชี 5 กรัม
  • ใบกัญชา 1 ใบ

วิธีการทำ

Directions

ตั้งกระทะใส่น้ำมันลงไปเล็กน้อย แล้วใส่เครื่องพะโล้ลงไปผัดในกระทะจนมีกลิ่นหอม

ตั้งหม้อต้มน้ำและใส่เครื่องพะโล้ลงไป แล้วจึงค่อยใส่ใบกัญชาตอนน้ำเดือด

ปรุงรสด้วยน้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ และน้ำตาล หลังจากนั้นจึงใส่วัตถุดิบอื่น ๆ น่องไก่ ไข่ต้ม และเต้าหู้ ตามลงไป ต้มไฟอ่อนจนสุก

ยกออกจากเตาและจัดเสิร์ฟ

อ้างอิง
* กานต์ วงศาริยะ, มัลลิกา ชมนาวัง, พลูกับคุณประโยชน์ที่ซ่อนอยู่, จุลาสารข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ปีที่ 26 ฉบับที่ 3 เมษายน 2552. หน้า 3-10.
Gruenwald J, Brendler T, et al(eds.) PDF for herbal medicines(2 nd Edition) New Jersey: Medical Economic Company, 2000: 858pp.
** TasleemF, Azhar I, Ali SN, Perveen S, Mahmood ZA. Analgesic and anti-inflammatory activities of Piper nigrum L. Asian Pacific journal of tropical medicine. 2014;7(Suppl 1):S461-S468.