Search
เล้งแซ่บกัญชา-cover1-3
CULINARY CANNABIS (เมนูจากกัญชา)

เล้งแซ่บใบกัญชา

เรื่องเล่าเมนูไทยเทสเทอราปี

Story

“เล้ง” เป็นส่วนของกระดูกสันหลังหมูมีเนื้อติดกระดูกบ้างเล็กน้อย ในภาษาจีนคำว่า ‘เล้ง’ แปลว่า มังกร ย่อมาจากคำว่า ‘เอียเล้ง’ ที่แปลว่ากระดูกสันหลังมังกร ซึ่งเมนูนี้ก็ไม่ได้ทำมาจากมังกรแต่อย่างใด แต่ที่ใช้คำว่าเอียเล้ง เป็นเพราะเมื่อชำแหละกระดูกสันหลังของหมู และชำแหละส่วนกระดูกซี่โครงออกจนเหลือแต่กระดูกสันหลังยาวตั้งแต่คอยันโคนหาง ซึ่งมีรูปทรงคล้ายกระดูกของงูใหญ่หรือมังกร คนจีนจึงเรียกติดปากกันว่า ‘กระดูกมังกร’ หรือ ‘กระดูกเอียเล้ง’

แต่เดิมนิยมนำเล้งมาทำน้ำซุปเพราะมีราคาถูกเพียงกิโลกรัมละ 25 บาทเท่านั้น เล้งเป็นวัตถุดิบที่มักนำมาเคี่ยวเป็นน้ำก๋วยเตี๋ยว ทำให้น้ำซุปมีรสชาติหอมหวานอร่อยกลมกล่อม บางครั้งเล้งกลายเป็นของแถมในชามก๋วยเตี๋ยวอีกด้วย แต่เดิมนิยมรับประทานเล้งกันเฉพาะบางคนเท่านั้น เพราะรู้สึกเสียดายหากแม่ค้าจะทิ้งไป รวมถึงค้นพบความอร่อยของเล้ง บางคนที่รับประทานก๋วยเตี๋ยวเป็นประจำ จึงมักจะขอแม่ค้าแยกเล้งใส่ถ้วยน้ำซุป แล้วมาเลาะเนื้อติดกระดูกรับประทานไปพร้อมกับก๋วยเตี๋ยวอย่างเอร็ดอร่อย จนกระทั่งเล้งเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ร้านต่าง ๆ จึงยกให้เป็นเมนูหลักของร้าน ปรุงน้ำซุปให้มีรสจัดเอาใจคนไทยที่ชอบกินเผ็ด จนกลายเป็นเมนูเด็ด ‘เล้งแซ่บ’ ที่ขายกันในปัจจุบัน

ประโยชน์ของพืชผักสมุนไพร

Health Benefits

‘เล้งแซ่บใบกัญชา’ เมนูรสจัดเผ็ดอมเปรี้ยว อร่อยทั้งน้ำแกงและเนื้อติดกระดูกที่เคี่ยวมาจนเปื่อย เพิ่ม ‘ใบกัญชา’ รสกลมกล่อมที่ให้ฤทธิ์ผ่อนคลาย เข้ากันได้ดีกับรสเปรี้ยวของมะนาวและความเผ็ดจากพริกขี้หนู สำหรับผู้ป่วยที่ทำเคมีบำบัด สารสกัดจากกัญชาสามารถบรรเทาภาวะคลื่นไส้อาเจียนให้ นอกจากนี้เล้งแซ่บอุดมด้วยคอลลาเจน ช่วยในการบำรุงผิวพรรณ

  • ‘ใบกัญชา’ ทำให้ผ่อนคลาย นอนหลับ ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และกระตุ้นให้อยากอาหาร ช่วยลดการอักเสบ ลดอาการชักเกร็ง และมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกหลายชนิด
  • ‘พริกขี้หนู’ มีแคปไซซิน ช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด ลดน้ำมูก ลดเสมหะ*
  • ‘ใบมะกรูด’ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ**
  • ‘ข่า’ ช่วยป้องกันอาการแพ้ มีฤทธ์ต้านการอักเสบ ป้องกันแบคทีเรียและไวรัส***
  • ‘ตะไคร้’ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน****
  • ‘มะนาว’ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ และซ่อมเเซมเซลล์ที่เสียหายจากการติดเชื้อ ยับยั้งการเติบโตของไวรัส*****
  • ‘หอมแดง’ ช่วยป้องกันการแพ้ ป้องการอักเสบ รวมถึงป้องกันแบคทีเรียและไวรัส******
  • ‘ผักชีฝรั่ง’ มีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการไข้หวัด*******
  • ‘กระเทียม’ ช่วยเสริมการทำงานของภูมิคุ้มกัน********

ส่วนผสม

Ingredients

  • พริกขี้หนู 20 กรัม
  • ใบมะกรูด 2 กรัม
  • ข่า 10 กรัม
  • ตะไคร้ 10 กรัม
  • มะนาว 20 กรัม
  • หอมแดง 30 กรัม
  • ผักชีฝรั่ง 5 กรัม
  • น้ำตาลโตนด 30 กรัม
  • กระเทียม 20 กรัม
  • กระดูกสันหลังหมู 300 กรัม
  • น้ำปลา 40 กรัม

วิธีการทำ

Directions

ตั้งเตารอจนน้ำเดือด แล้วใส่สมุนไพร ใบมะกรูด ข่า ตะไคร้ หอมแดง และกระเทียม ลงไป

ใส่กระดูกสันหลังหมูลงไป เปิดไฟอ่อนแล้วเคี่ยวจนเปื่อย

ใส่ใบกัญชา พร้อมปรุงรสด้วยน้ำตาลโตนด น้ำปลา น้ำมะนาว พริกขี้หนูและผักชีซอย

จัดเสิร์ฟ

อ้างอิง
* vonne D., Ofelia G., Guillermo O., José P., & Tzayhrí G. (2014). Determination of Capsaicin, Ascorbic Acid, Total Phenolic Compounds and Antioxidant Activity of Capsicum annuum L. var. serrano by Mid Infrared Spectroscopy (Mid-FTIR)
and Chemometric Analysis. Journal of the Korean Society for Applied Biological Chemistry, 57(1): 133-142.
** ชนิพรรณ บุตรยี่. การศึกษาชีวภาพความพร้อมและคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระของฟลาโวนอยด์จากใบมะกรูดในหลอดทดลองและศักยภาพในการป้องกันการแตกหักของโครโมโซมในหนูเม้าส์โดยวิธีการตรวจไมโครนิวเคลียสในเม็ดเลือดแดง [วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต]. กรุงเทพฯ. มหาวิทยาลัยมหิดล;2551.
*** Russo M, Spagnuolo C, Tedesco, The flavonoid quercetin in disease prevention and therapy: facts and fancies. Biochem Phamacol. 2012;83(1):6-15.
**** Khaerunnisa S, et al. Potential Inhibitor of COVID-19 Main Protease (Mpro) from Several Medicinal Plant
Compounds by Molecular Docking Study. Preprints 2020
***** Hemilä H, Chalker E. Vitamin C for preventing and treating the common cold. Cochrane Database of Systematic Reviews 2013, 1. DOI: 10.1002/14651858.CD000980.pub4
ผศ.ดร. เอกราช บำรุงพืชน์, สมุนไพรและสารพฤกษเคมี
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล – www.medplant.mahidol.ac.th
****** Russo M, Spagnuolo C, Tedesco, The flavonoid quercetin in disease prevention and therapy: facts and fancies. Biochem Phamacol. 2012;83(1):6-15.
******* Honneychurch P.N, 1980. Caribbean Wild Plants and Their Uses.
********Moutia M, et al. Review Article In Vitro and In Vivo Immunomodulator Activities of Allium sativum L. Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine 2018; Article ID 4984659.https://doi.org/10.1155/2018/4984659