Search
เพนเน่น้ำพริกอ่อง-cover1-3
Healthy Food (เมนูสมุนไพรเพื่อสุขภาพ)

เพนเน่น้ำพริกอ่องกระชาย

เรื่องเล่าเมนูไทยเทสเทอราปี

Story

น้ำพริกอ่อง เป็นน้ำพริกพื้นบ้านของภาคเหนือ ลักษณะเด่นของน้ำพริกอ่องคือ มีสีส้มซึ่งเป็นสีของมะเขือเทศและพริกแห้ง ที่เคี่ยวจนเป็นน้ำขลุกขลิก มีน้ำมันลอยหน้าน้ำพริกเล็กน้อย มีสามรสชาติเด่น ได้แก่ เปรี้ยว เค็ม เผ็ด อย่างไรก็ดี อาจมีรสหวานแทรกด้วย นิยมรับประทานกับผักสดหรือผักต้ม หรือที่นิยมกันอย่างแพร่หลายคือ รับประทานคู่กับแคบหมู

คำว่า “อ่อง” ในภาษาเหนือนั้น หมายถึง การปรุงน้ำพริกที่ต้องผัดเคี่ยวทิ้งไว้ให้น้ำค่อย ๆ งวดลง น้ำพริกอ่องสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการกินของคนเหนือได้อย่างชัดเจน เมื่อพิจารณาส่วนประกอบ จะเห็นได้ว่า วัตถุดิบที่นำมาเป็นส่วนประกอบในน้ำพริก ล้วนเป็นวัตถุดิบที่ได้จากธรรมชาติที่เกิดจากวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับน้ำพริกอ่องว่า เมื่อก่อนมีชาวเมียนมาชื่อ ‘นายอ่องหม่อง’ อยากรับประทานขนมเส้นน้ำเงี้ยว จึงตำน้ำพริกเพื่อจะทำเป็นน้ำเงี้ยว ขณะกำลังเตรียมส่วนผสม คั่วพริก คั่วหอม ให้มีกลิ่นหอม ๆ กำลังได้ที่ ระหว่างนั้น ลูกของนายอ่องหม่องก็ร้องไห้ เพราะหิวข้าว นายอ่องหม่องบอกให้ลูกเงียบก็ไม่เงียบเสียที เอาแต่ร้องไห้ เพราะหิวข้าวมาก นายอ่องหม่องโมโห จึงตักน้ำพริกที่กำลังทำ แต่ยังทำไม่เสร็จ มาให้ลูกชายกิน ซึ่งรสชาติของน้ำพริกตอนนั้น มีรสเผ็ดมาก นายอ่องหม่องจึงเก็บผักมารับประทานคู่กับน้ำพริก ผลปรากฏว่า อาหารกลับมีรสชาติอร่อย รู้สึกติดใจ จึงลองนำไปให้ชาวบ้านบริเวณนั้นรับประทาน ชาวบ้านก็ติดใจ เลยพากันเรียก “น้ำพริกปู่อ่อง” พอนานวันเข้า ก็เรียกชื่อเพี้ยนไปให้สั้นลง เหลือเพียงน้ำพริกอ่อง จึงเรียกติดปากกันมาเท่าทุกวันนี้

ประโยชน์ของพืชผักสมุนไพร

Health Benefits

‘เพนเน่น้ำพริกอ่องกระชาย’ คือ อาหารที่ผสมผสานรสชาติจากสองฝั่งทั้งตะวันตกและตะวันออกได้อย่างลงตัว ลวกเส้นเพนเน่ ก่อนจะตั้งกระทะผัดหัวหอมใหญ่ เนื้อสัตว์ และวัตถุดิบอื่น ๆ ใส่น้ำพริกอ่องที่มีส่วนผสมหลักอย่างมะเขือเทศลงไปเพิ่มรสกลมกล่อมออกเปรี้ยว ผัดให้เข้ากันจนเป็นซอส ก่อนจะจัดเส้นเพนเน่ใส่จานให้สวยงาม ราดซอสร้อน ๆ โรยด้วยพาร์เมซานชีสตบท้ายก็พร้อมเสิร์ฟให้ลิ้มรส

  • ‘มะเขือเทศ’ อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ*
  • ‘กระชาย’ มีสาร Quercetin ช่วยบรรเทาอาการไอและหวัด
  • ‘กระเทียม’ ช่วยเสริมการทำงานของภูมิคุ้มกัน**
  • ‘พริกแห้ง’ ช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด ลดน้ำมูก ลดเสมหะ***
  • ‘หอมแดง’ ช่วยป้องกันการแพ้ ป้องการอักเสบ รวมถึงป้องกันแบคทีเรียและไวรัส****
  • ‘ข่า’ ช่วยป้องกันอาการแพ้ มีฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบ ป้องกันแบคทีเรียและไวรัส*****
  • ‘ตะไคร้’ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน******
  • ‘พริกไทย’ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ*******

ส่วนผสม

Ingredients

  • เส้นเพนเน่ 150 กรัม
  • พริกแกงแดง 20 กรัม
    • พริกแห้ง
    • กระเทียม
    • หอมแดง
    • ข่า
    • ตะไคร้
    • กะปิ
    • เกลือ
    • ยี่หร่า
    • พริกไทย
    • รากผักชี
  • มะเขือเทศ 30 กรัม
  • หมูสับ 50 กรัม
  • ผักชี (ตกแต่ง) 5 กรัม
  • น้ำปลา 25 กรัม
  • น้ำตาล 10 กรัม
  • ต้นหอม 5 กรัม
  • หอมแดง 10 กรัม

วิธีการทำ

Directions

ผัดเครื่องพริกแกงกับน้ำมัน

ใส่มะเขือเทศ หอมแดง และหมูสับ ลงไปผัดจนสุก

ใส่เส้นเพนเน่สุกลงไป คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำตาล

จัดใส่จานและตกแต่งด้วยต้นหอม

อ้างอิง
* วิมล ศรีศุข. ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. กินมะเขือเทศอย่างไรได้ไลโคปีน (lycopene) สูง. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article
** Moutia M, et al. Review Article In Vitro and In Vivo Immunomodulator Activities of Allium sativum L. Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine 2018; Article ID 4984659.https://doi.org/10.1155/2018/4984659
*** Vonne D., Ofelia G., Guillermo O., José P., & Tzayhrí G. (2014). Determination of Capsaicin, Ascorbic Acid, Total Phenolic Compounds and Antioxidant Activity of Capsicum annuum L. var. serrano by Mid Infrared Spectroscopy (Mid-FTIR)
and Chemometric Analysis. Journal of the Korean Society for Applied Biological Chemistry, 57(1): 133-142.
**** Russo M, Spagnuolo C, Tedesco, The flavonoid quercetin in disease prevention and therapy: facts and fancies. Biochem Phamacol. 2012;83(1):6-15.
***** Russo M, Spagnuolo C, Tedesco, The flavonoid quercetin in disease prevention and therapy: facts and fancies. Biochem Phamacol. 2012;83(1):6-15.
****** Khaerunnisa S, et al. Potential Inhibitor of COVID-19 Main Protease (Mpro) from Several Medicinal Plant
Compounds by Molecular Docking Study. Preprints 2020

******* Tasleem F, Azhar I, Ali SN, Perveen S, Mahmood ZA. Analgesic and anti-inflammatory activities of Piper nigrum L. Asian Pacific journal of tropical medicine. 2014;7(Suppl 1):S461-S468.